11 สิงหาคม 2552

Transport Tycoon Deluxe : เกมเก่ามาเล่าใหม่

Credit : www.gamespot.com

เป็นเกม แนว Business Strategy ที่ว่าด้วยการขนส่ง คน และ สินค้า จาก แหล่งที่ปล่อย ไปยัง แหล่งที่รับ หลักๆ จะมี 4 เครื่องมือด้วยกัน โดยมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน

1. "รถ" เช่น รถเมลล์ขนคน รถบรรทุก รถขนสินค้า
จุดเด่น คือ การลงทุนที่ต่ำ เข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ง่าย และไม่ต้องวางแผนในการดำเนินการมากนัก โดยคุณเพียงวางสถานีต้นทางและสถานีปลายทาง กับโรงซ่อมและซื้อขายรถ ขอเพียงถนนถึงกันมันก็วิ่งได้แล้วครับ
จุดด้อย คือ ควบคุมได้ยาก มีปัญหาง่าย ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ

2. "เครื่องบิน"
จุดเด่น คือ เร็วที่สุดในเกม ง่ายที่สุดในการวางแผน เพราะบนฟ้าไม่มีสิ่งกีดขวาง ถ้าท่านวางสนามบินต้นทางและปลายทางได้ อย่างไรมันก็บินไปให้ท่าน
จุดด้อย คือ ต้องสร้างสนามบินซึ่งมีขนาดใหญ่และกินพื้นที่มาก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงจึงไม่ค่อยเหมาะสำหรับขนสิ่งอื่นนอกจากคนกับจดหมาย ถ้าเครื่องบินเสียจะมีปัญหาค่อนข้างมาก

3. "เรือ"
จุดเด่น คือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่อหน่วย ถูกที่สุดในเกม เหมาะสำหรับขนของหนักๆ เช่นพวกทรัพยากรต่างๆ
จุดด้อย คือ ต้องมีทะเลเชื่อมถึงกัน ถ้าเป็นทางน้ำแคบๆ ส่วนใหญ่จะวิ่งไม่ได้ และมีข้อเสียหลัก คือ ช้ามากที่สุดในเกม

4. "รถไฟ" - ที่ผมเอารถไฟไว้สุดท้าย เพราะถือเป็นระบบสำคัญที่ทำให้เกมนี้เป็นตำนานสำหรับผมครับ หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีรถไฟที่มีแนวคิดค่อนข้างพิสดารขนาดนี้ เกมนี้คงเหลือคุณค่าแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น

ตัวอย่างสะพานสำหรับรถยนต์ และ สะพานสำหรับรถไฟ
Credit : www.gamespot.com

ภายในเกมระบบจะอนุญาติให้ท่านสร้างทางรถไฟให้วิ่งได้ 8 ทิศทาง คือ นอกจาก เหนือใต้ออกตก แล้วจะรวมไปถึงทิศทางมุมเฉียงๆ อีก 4 ทิศอีกด้วย และทางรถไฟที่สร้างจะเป็นรางเดี่ยวธรรมดา แต่ท่านจะต้องสร้างทางแยก วางทางเบี่ยง ใส่สะพาน และสุดท้ายก็วางเสาไฟเพื่อกำหนดทิศทางการวิ่งของรถไฟของท่าน ถ้าท่านวางได้ดีเยี่ยม ท่านจะได้เครื่องมือสำหรับสร้างผลกำไรอย่างงามให้กับธุรกิจของท่าน แม้ว่าทางรถไฟทุกๆ ตารางนิ้วจะต้องใช้เงินทุนของท่านลงไปอย่างมากมายมหาศาลก็ตาม แต่ทว่าถ้าท่านวางแผนได้ไม่ดีพอ มันอาจจะไม่วิ่ง หรือจอดนิ่งสนิท เมื่อระบบเช็คก่อนวิ่งแล้วว่าถ้าวิ่งไปข้างหน้าจะมีรถไฟคันอื่นใช้เส้นทางนั้นอยู่ อย่างไรก็ตามท่านสามารถฝืนเพิกเฉยต่อการหยุดได้ เมื่อท่านสั่ง "ฝ่าไฟแดง" มันก็พร้อมจะทำตามคำสั่งอย่างแข็งขัน แม้ว่าข้างหน้าอาจจะเป็นหายนะที่รถไฟของท่าน 2 ขบวนจะชนกันก็ตามที

ท่านสามารถสร้างทางรถไฟ ที่ทำงานเหมือน "จุดตัด ของ ถนนวงแหวน" แบบนี้ก็ยังได้
Credit : www.tycoongames.net

อีกระบบหนึ่งของเกมที่ถือได้ว่าเป็นสุดยอดอย่างมากสำหรับเกมที่ยังเล่นอยู่บน DOS ในสมัยนั้น ก็คือ "ระบบหน้าต่างเล็ก" ซึ่งสามารถติดตามดู ยานพาหนะเป้าหมาย ที่คุณต้องการจะติดตามเป็นพิเศษ เช่น รถไฟสายใหม่ที่คุณยังกังวลว่าอาจทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หรือ รถขนสินค้าที่วิ่งไม่ถึงเป้าหมายสักที (ถนนอาจมีปัญหา) ซึ่งมิได้เปิดได้แค่หนึ่งหน้าต่าง แต่เปิดได้เป็นสิบหน้าต่าง และซ้อนกันได้แบบ Window ด้วย แต่เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อท่านต้องการแก้ไขสิ่งใด ท่านสามารถกดวัตถุที่อยู่ในหน้าต่างเล็ก เพื่อสั่งการได้เช่นเดียวกับว่าวัตถุนั้นอยู่ในหน้าต่างใหญ่ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ท่านในการเล่นอย่างดีเยี่ยม แค่ระบบนี้ระบบเดียว ผมก็รู้สึกว่าเกมแนววางแผนที่ทำแบบนี้ได้ในปัจจุบันก็ยังหาได้ยากยิ่ง

ระบบหน้าต่างย่อยที่ช่วยให้ท่านดูแลความเคลื่อนไหวได้หลายจุดพร้อมกัน ในแบบ Real Time
Credit : http://members.chello.at/

นอกเหนือจากนี้ ระบบการ Unload สินค้าทิ้งไว้ที่สถานที่ใดก็ได้ ยังช่วยให้ท่านสามารถขนหลายช่วง ด้วยพาหนะต่างชนิดกัน เช่น จากโรงงานกลางหุบเขา ขนขึ้น รถบรรทุก ไปส่งท่าเรือ แล้วขนข้ามมหาสมุทร ไปขึ้นรถไฟ ก่อนจะนำไปใส่เครื่องบินอีกที เพื่อส่งให้ถึงเมืองที่ต้องการได้อีกด้วย ซึ่งช่วยให้ท่านสามารถพลิกแพลงได้อย่างหลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากอุปสรรคต่างๆ ในเกม ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่ มหาสมุทรที่ขวางกั้น หรือแม้แต่ภูเขาสูงชัน (เกมนี้เจาะอุโมงได้ครับ แต่แพงสุดๆ และมีปัญหาในการ Upgrade ไปใช้ระบบใหม่จนท่านจะหลีกเลี่ยงการเจาะอุโมงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ครับ)

ข้อคิดอื่นๆ ที่ได้จากเกมนี้
- ระบบการคำนวณความเร็ว ที่ถ้าเราสร้างทางรถไฟยิ่งคดเคี้ยวเลี้ยวลด รถไฟก็จะแล่นได้ช้า
- ระบบการคำนวณรายได้จากการขนส่ง ที่ยิ่งถึงเร็วก็จะยิ่งได้รายได้มาก แต่สินค้าต่างชนิดกันก็จะมีอัตราการเพิ่มของรายได้ต่อความเร็วที่ต่างกัน

เข้าดูได้ที่นี่ ! เกี่ยวกับการเล่นบน Pocket PC (บทความภาษาไทย)

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ19 มกราคม 2556 เวลา 10:32

    โหลดยังไงครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ14 มีนาคม 2556 เวลา 11:06

    เล่นสนุกค่ะ.. เล่นมาหลายปีแล้ว ^_^ เพลินและใช้ความคิดตลอดๆๆ..

    ตอบลบ