04 สิงหาคม 2552

เกม : โหลดเร็ว เป็น "ข้อดี" หรือ ?

www.revellphotography.com

เมื่อวันก่อน ในทีมของผมได้มีการมานั่งคุยกันเรื่องของรายละเอียดของเกมที่กำลังสร้างกัน มีจุดหนึ่งที่ได้พูดกันถึง เรื่องของการที่ เกมน่าจะต้อง "โหลดเร็ว" หรือ ผู้เล่นต้องรอโดยไม่ได้ทำอะไรไม่นานมากนัก ซึ่งมันก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้วที่ เกมที่โหลดได้เร็ว จะน่าเล่นกว่า เกมที่โหลดได้ช้า แต่สำหรับ เรื่องมุมมองของ "เวลา" ที่มีผลต่อผู้เล่น ก็เป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจสำหรับผู้พัฒนาเกมครับอยู่ไม่น้อยครับ

เพราะเมื่อมีคนพูดถึง สิ่งที่ต้องจ่าย ในการทำสิ่งต่างๆ รวมถึง "การเล่นเกม" ด้วยนั้น คนทั่วไปมักจะคิดถึงแต่เรื่อง "เงิน" ที่จะต้องจ่ายเพื่อเล่นเกมเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเพื่อซื้อเกมมาเล่น จ่ายค่ารายเดือน อาจรวมไปถึงเพื่อซื้อบริการเพิ่มเติมจากเกมนั้นๆ แต่จริงๆ แล้ว "เวลา" ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับความสนุกสนานในการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เล่น เวลาที่รอ เวลาที่ใช้คิด การที่เกมใช้เวลาที่มากในการเข้าถึงจุดที่สำคัญ มักจะทำให้ผู้เล่นเกิดความรู้สึกรำคาญได้โดยง่าย ยิ่งถ้าเป็นการรอที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งด้วยแล้ว ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากอันหนึ่งของเกมๆ นั้นเลยทีเดียว ดังนั้นในฐานะ "ผู้พัฒนาเกม" แล้ว จึงจำเป็นต้องคำนึงถึง "เวลาที่ผู้เล่นต้องเสียไป" ระหว่างกิจกรรมต่างๆ ของท่าน ว่าเป็นรายจ่ายที่สำคัญอันหนึ่งของผู้เล่น ที่ต้องจ่ายเพื่อเล่นเกมของท่าน แม้ว่าท่านจะไม่ได้ประโยชน์เป็นตัวเงินจากเวลาที่จ่ายไปก็ตาม

สรุปแล้ว การโหลดเกมได้เร็ว ไม่ได้ถือเป็นข้อดีสำหรับทำให้ผู้เล่นมาเล่นเกมของท่าน เช่นเดียวกับที่ท่านคงไม่เล่นเกมใดเกมหนึ่ง ด้วยเหตุผลเพียงเพราะการที่เกมนั้นโหลดได้เร็วหรอกนะครับ แต่ การโหลดเกมช้า เป็นข้อเสียอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าท่านแก้ไข ปรับปรุง หรือหาทางปกปิดข้อเสียนี้ได้ไม่ดีพอแล้วล่ะก็ ผลของมันจะทำลายคุณค่าของเกมท่านอย่างแน่นอน

ตัวอย่างเกมที่โหลดช้า ที่ผมเคยได้เล่นมา

1. Resident Evil : Outbreak 1 (PS2) - เป็นเกมที่มีแนวคิดที่ดีในเรื่องการประยุกต์เนื้อเรื่องความพินาศของ Raccoon City สำหรับการหนีตายของกลุ่มคนผู้รอดชีวิต ซึ่งมีความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างกัน เพียงแต่ว่าเกมมีการโหลดทุกครั้งที่เปิดประตู ซึ่งในเกมก็มีประตูนับร้อยๆ แห่ง และทุกครั้งที่เปิดฉากจะมืดมีแต่ภาพประตู การโหลดกินเวลา 30-60 วินาที ทุกครั้ง ดังนั้นเมื่อท่านเดินจากห้อง A ไปห้อง B แล้วนึกได้ว่าลืมไอเทมไว้ในห้องน้ำ C ที่อยู่ในห้อง A นั้น ท่านจะต้องเดินดังนี้ B ไป A ไป C กลับมา A กลับมา B ผลคือท่านต้องรอโหลด 2-4 นาที สำหรับแค่การไปเอาไอเทมชิ้นหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นภาคอื่นๆ ท่านสามารถใช้เวลาแค่ 10-20 วินาทีเท่านั้น ซึ่งผมก็ไม่ได้เล่นเกมนี้อีกเลยหลังจากได้เจอประสบการณ์ที่ชวนเซ็งในจุดนี้ครับ

http://wallpapers.dpics.org


2. Panya 2 (Wii) - เกมนี้ก็เป็นเกมหนึ่งที่ต้องรอโหลดเวลาจะลงสนามประมาณ 1-2 นาที แต่ในระหว่างโหลดจะมีการนำภาพมุมของสนามที่สบายตามาเป็น Background และนำเสนอข้อมูลของตัวละคร สนาม แคดดี้ หรืออื่นๆ ให้อ่านระหว่างรอการโหลด ซึ่งถือเป็นวิธีแก้ไขที่ทำได้ง่าย และเห็นบ่อยเวลาโหลดเกมทั่วๆ ไป

www.online-station.net


http://ffplanet.freeforums.org


นอกเหนือจากนี้ ถ้าเราลองประยุกต์ แนวคิดเรื่องผลของ "เวลา" ในมุมมองอื่นแล้ว ท่านจะพบว่า "การซื้อขายเงินในเกมออนไลน์" หรือ "การซื้อของในไอเทมมอลล์" เป็นสิ่งที่มีเหตุผลยอมรับได้ เพราะถ้าคุณ LV 30 โดยไม่มีความช่วยเหลือใดๆ คุณอาจใช้เวลาเล่น 10 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ LV 40 ซึ่ง 10 ชั่วโมงนั้น คุณต้องจ่ายเงินค่าเล่น 150 บาท แต่ถ้าคุณซื้อเงินในเกมด้วยเงิน 30 บาทเพื่อซื้อความช่วยเหลือในเกม ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ เครื่องป้องกัน ไอเทมต่างๆ คุณอาจใช้เวลาเล่นเพียงแค่ 6 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ LV 40 เท่ากัน แต่คุณจ่ายค่าเล่นเพียง 90 บาท รวมแล้วก็จ่ายเพียง 120 บาทเท่านั้น นี่ยังไม่รวมถึงผลในแง่สังคม เช่นการเก็บ LV ได้เร็วกว่าเพื่อนที่เล่นพร้อมกันอีกด้วย ที่ผมวิเคราะห์นี่มิใช่ต้องการบอกว่า "การซื้อขายเงินในเกมออนไลน์" หรือ "การซื้อของในไอเทมมอลล์" เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีหรอกนะครับ เพียงแต่มันเป็นแนวคิดที่เศรษฐศาสตร์พิสูจน์ความสมเหตุสมผลของการตัดสินใจของนักเล่นเกม ด้วยตัวอย่างของการเปรียบเทียบเวลาให้เป็นเงินอย่างง่ายๆ ผ่านการจ่ายเงินค่าเล่นเกมในร้าน เพราะบ่อยครั้งผู้เล่นจะมองว่าการจ่ายเงินจริง เพื่อแลกกับไอเทมในเกม เป็นสิ่งที่โง่เขลา แต่บางทีการจ่ายเงินของผู้เล่นคนอื่นนั้น ก็อาจสมเหตุสมผลในมุมมองที่ต่างออกไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น