18 สิงหาคม 2552

หนังสือ "เขียนบทหนัง : ซัดคนดูให้อยู่หมัด" กับ การสร้างสรรค์ผลงาน

Credit : http://lakari.exteen.com

บทความนี้มาจากบางส่วนของหนังสือ ชื่อ "เขียนบทหนัง : ซัดคนดูให้อยู่หมัด" จาก Art of Screenwriting คอลัมน์ยอดนิยมในนิตยสาร BIOSCOPE

ต้องขอเกริ่นเล็กน้อยว่า เหมาะมากสำหรับผู้สนใจเทคนิค แนวคิด ทฤษฎี และตัวอย่างที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่จะสร้างบทบาทเสมือนจริง ก็คือทั้ง Fiction / Dojin / Manga นั่นล่ะ ^^ แม้ไม่ใช่ศาสตร์ที่ตรงกันเป๊ะ 100% แต่จากการอ่านไปประมาณ 50-60 หน้าแล้วพอว่าสามารถประยุกต์แนวคิด 70-80% ในหนังสือเพื่อใช้ในงานด้านนี้ได้อย่างน่าสนใจ จึงหวังว่าจะเป็นประโยชน์ได้กับหลายๆ คนครับผม

ตัวอย่างบทความบางตอนของหนังสือ

หน้าที่ 16. "เรื่องที่ดีจึงไม่ใช่แหล่งรวม 'ข้อเท็จจริง' (Fact) แต่คือ 'ความคิดและความรู้สึกที่เรามีต่อข้อเท็จจริงนั้น' (Truth) ต่างหาก"

หน้าที่ 27 "... โดยหากเราเปรียบเทียบ value ของชีวิตตัวละครในตอนเริ่มกับตอนจบเรื่อง เราก็จะเห็น 'เส้นทางความพลิกผันของหนัง' เพราะในเรื่องที่เข้มข้นและน่าสนใจนั้น จุดเริ่มและจบของตัวละครจะต้อง 'เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง' และ 'เปลี่ยนแปลงชนิดที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมได้อีกเลย' ..."

อยากให้ไปลองยืนอ่านดูก่อน ถ้าชอบก็ค่อยซื้อมาดูละกันครับผม (อาจเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้วสำหรับผู้ที่ศึกษามาด้านนี้โดยตรง แต่ผมก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องการมุมมองใหม่ๆ ครับผม ^_^)

บทความบางส่วนจากหน้า 49-50 ในหนังสือครับ

ทุกเรื่องในโลกนี้ - ไม่ว่าจะบอกเล่าเหตุการณ์ใหญ่โตขนาดไหน - จริงๆ แล้วต่างก็ว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้น 'โลกอันไม่กว้างใหญ่นัก' ทั้งนั้น หนังอย่าง Gone With the Wind (1939) อาจจะพูดถึงสงครามกลางเมืองที่กินเวลานานหลายสิบปี แต่โครงสร้างของมันเกี่ยวพันกับตัวละครหลักแค่ไม่กี่คนและไม่กี่โลเคชั่น ...ไม่ว่าเหตุการณ์ในหนังของคุณจะเป็นเรื่องอะไร โลกของมันก็ควรจะเล็กในระดับที่คุณสามารถดูแล ใส่รายละเอียดและสร้างความลึกซึ้งด้วยความเข้าอกเข้าใจได้อย่างแท้จริง จนถึงขั้นที่เมื่อใครได้อ่านบทหนังเรื่องนี้และสงสัยตรงไหน คุณก็จะต้องตอบคำถามเขาได้ทุกข้อ - ตั้งแต่เหตุผลที่ตัวละครของคุณพูดจาและกินข้าวแบบนั้น ไปจนถึงสภาพอากาศในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ของคุณ - คุณต้องรู้และเข้าใจมันทั้งหมด

แต่ก็อีก...โลกที่เราเรียก 'เล็ก' นี้ ต้องไม่ใช่ความเล็กแบบไร้ความสำคัญและไม่น่าสนใจ ขณะที่ความเข้าใจแตกฉานที่คุณต้องมีต่อทุกสิ่งที่เขียนนั้นก็ไม่ได้แปลว่าคุณควรจะเสแสร้งใส่ความหมายลุ่มลึกเข้าไปในทุกอย่าง แต่คนเขียนบทที่ดีต้องรู้ว่า 'ธรรมชาติ' ของสิ่งที่เขาเขียนเป็นอย่างไร ...อลัน บอลล์ อาจจะเป็นคนอังกฤษก็จริงแต่เขาต้องเข้าใจถ่องแท้เสียก่อนจะลงมือเขียนหนังเสียดสีความฝันแบบอเมริกาอย่าง American Beauty (1999) ว่า วิถีชีวิตของคนอเมริกาเป็นแบบที่เขาคิดจริงไหม, เดวิด มาเม็ต ต้องรู้จักนิสัยใจคอของเซลล์แมนอย่างเข้าไส้เมื่อเขาจะเขียนหนังชำแหละวงการเซลส์แมนอย่าง Glengarry Glen Ross (1992) เช่นเดียวกับที่ จอห์น คลีส ก็ต้องแจ่มแจ้งในอารมณ์ขันประหลาดๆ และพฤติกรรมของแก็งต้มตุ๋นจนละเอียดก่อนจึงเขียนหนังตลกอย่าง A Fish Called Wanda (1988) ออกมาได้ชนิดไม่คัดค้านความรู้สึกของคนดู

แล้วทำไมหนังเกี่ยวกับวัยรุ่นเสียคนหลายๆ เรื่องจึงได้ชอบวนเวียนอยู่แต่กับตัวละครประเภทเจ้าพ่อ, นักเลง, พ่อค้ายา, แมงดา ฯลฯ (ที่แต่ละคนก็ยังมักจะมี 'มาดประจำตัว' ซึ่งคนเขียนบทจินตนาการเอาเองอีกต่างหาก) กันอยู่ได้ ...น่าสังเกตไหมว่ายิ่งคนเขียนบทพยายามจะขยายโลกในเรื่องของตนออกไปกว้างมากเท่าไหร่โดยที่เขาไม่ได้มีความเข้าใจในโลกเหล่านั้นอย่างแท้จริง เรื่องที่ได้ก็ย่อมจะยิ่งซ้ำซากมากขึ้นเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน หากเขาจำกัดโลกในเรื่องของเขาให้แคบลง และศึกษาจนเข้าใจมันมากขึ้น เขาก็จะยิ่งสามารถสร้างความแปลกใหม่ให้แก่เรื่องได้ดีขึ้นเท่านั้นเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น