15 พฤษภาคม 2553

ปัจจัยสำคัญของการฝึกอบรม - แสงเงินแสงทอง / Bhunikar Wongbundit

ปัจจัยสำคัญของการฝึกอบรม
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

พระไตรปิฎก อันเป็นบันทึกคำสอนของพระพุ
ทธเจ้า ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
"เวลาพระอาทิตย์จะขึ้น ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน
เป็นนิมิตหมายว่า เดี๋ยวก็จะมีพระอาทิตย์โผล่ขึ้นท้องฟ้าให้เห็น
ข้อนี้ฉันใด ก่อนที่อริยมรรคมีองค์ 8 จะเกิดขึ้นและพัฒนาจนสมบูรณ์นั้น
ก็ย่อมมี 2 อย่างเกิดขึ้นก่อนเป็นบุพนิมิต คือ
ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น"

วันนี้ขอพูดถึงเฉพาะปัจจัยแรก คือ ปรโตโฆสะ

ปรโตโฆสะ แปลตามตัวอักษรว่า "เสียงจากคนอื่น"
เป็นศัพท์เทคนิคทางพระแท้ๆ เลย
แม้พระภิกษุสามเณรบางกลุ่มที่ไม่ ได้ศึกษาเล่าเรียนก็แปลไม่ออก
หรือแปลออกก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร
ปรโตโฆสะ หมายถึง "สิ่งแวดล้อม"
ครอบคลุมถึงสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ และสิ่งแวดล้อมทางบุคคลหรือสังคม

พูดให้ชัดก็คือ ทุกอย่างที่แวดล้อมเราเรียกว่า ปรโตโฆสะ

พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกมีผลต่อการฝึกฝนอบรมมิใช่น้อย
คนเรานั้นมีแนวโน้มจะดีหรือชั่ว เพียงเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา
ถ้าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ เหมาะ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตนเป็นคนดี
เขาก็อาจจะกลายเป็นคนชั่วคนเลว ได้ ตรงข้ามถ้าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ดี
เขาก็จะเป็นคนดีที่สังคมปรารถ นาได้

คัมภีร์พุทธศาสนาได้ยกนิทานมา "สาธก"
เกี่ยวกับอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เรื่องหนึ่ง (ความจริงหลายเรื่อง แต่นึกได้เรื่องเดียว)
มีความว่า มีลูกนกแขกเต้าสองตัว ลูกพ่อแม่เดียวกัน
วันหนึ่งเกิดพายุกล้า พัดพาเอาลูกนกทั้งสองไปคนละทิศละทาง
ลูกนกตัวหนึ่งถูกลมหอบไปตกลงที่ กองอาวุธของพวกโจร
พวกโจรจึงนำมันไปเลี้ยง ตั้งชื่อมันว่า "สัตติคุมพะ" (แปลแบบไทยๆ ก็ว่า "ไอ้หอก")

อีกตัวหนึ่งลมหอบไปตกลงท่ามกลาง พุ่มไม้ใกล้อาศรมของพวกฤๅษี
พวกฤๅษีจึงนำมันไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อว่า "ปุปผกะ" (แปลว่า "ไอ้ดอกไม้")

พวกโจรนั้นวันๆ ก็พูดแต่คำหยาบคาย มีแต่เรื่องฆ่าเรื่องปล้น
ไอ้หอกมันก็เลียนเสียงพูดที่หยาบ คายของพวกโจร
ส่วนพวกฤๅษีพูดไพเราะ ไอ้ดอกไม้มันก็เลียนเสียงพูดที่สุภาพไพเราะตาม

วันหนึ่งพระเจ้ากรุงปัญจาละ เสด็จไปล่าเนื้อ ติดตามด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก
เกิดพลัดหลงกับเหล่าข้าราชบริ พาร เสด็จเข้าป่าลึกไปตามลำพัง
ทรงเหน็ดเหนื่อย จึงพักผ่อนใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง พลันได้ยินเสียงมาแต่ไกลว่า
"ฆ่ามันเลย ปล้นมันเลย" ทรงตกพระทัย เหลียวซ้ายแลขวาไม่เห็นใคร
แหงนพระพักตร์ขึ้นไปยังเบื้องบ น
จึงทอดพระเนตรเห็นนกน้อยตัวหนึ่ง พูดภาษาคนแจ้วๆ ล้วนแต่คำหยาบคายทั้งนั้น

เสด็จไปได้สักระยะหนึ่งก็ลุถึง อาศรมของพวกฤาษี ขณะนั้นพวกฤๅษีไม่อยู่
มีแต่นกน้อยตัวหนึ่ง ร้องต้อนรับว่า
"ท่านผู้เจริญ พักผ่อนก่อน ท่านผู้เจริญดื่มน้ำก่อน"
ทรงนึกชมว่า นกน้อยตัวนี้พูดไพเราะจัง ไม่เหมือนตัวที่ผ่านมา

เมื่อพวกฤๅษีกลับมายังอาศรม พระเจ้ากรุงปัญจาละ จึงเล่าเรื่องนกสองตัวให้ฟั
พวกฤๅษีกล่าวว่า ความจริงนกสองตัวนี้ เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน
แต่บังเอิญว่าเติบโตในสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างกัน นิสัยใจคอจึงแตกต่างกันดังที่เห็น

นิทานเรื่องนี้ต้องการชี้ว่า อย่าว่าแต่คนเลย แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน
เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมแตกต่าง กัน ก็ย่อมจะแตกต่างกันไปด้วย

เราคงเคยสังเกตเห็นว่า สัตว์ที่เกิดในเมืองหนาว มักจะมีขนยาวหนา
ต่างจากสัตว์เมืองร้อน ด้านกายภาพ มันก็ยังปรับตัวให้เข้ากับสภาพของดินฟ้าอากาศ
เรื่องนิสัยใจคอ มันก็ย่อมต่างกันไปตามธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน

พูดถึงเรื่องนี้นึกถึงหลวงพ่อปัญญา นันทะขึ้นมาได้
สมัยก่อนยังไม่เคยมีพระภิกษุไทย ไปต่างประเทศ
หลวงพ่อปัญญานันทะดูเหมือนจะเป็ นพระไทยรูปแรกที่ได้รับนิมนต์ ไปต่างประเทศ
ถัดจากหลวงพ่อปัญญานันทะมา จึงมีพระเป็นจำนวนมากได้ไปเมืองนอกเมืองนา
ถึงวันนี้มีพระไทยไปสร้างวัดสร้าง วากัน โดยเฉพาะที่อเมริกาเป็นสิบเป็น ร้อยวัดแล้ว

เหตุเกิดที่ยุโรป ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ
หลวงพ่อปัญญานันทะ ใส่ถุงเท้าและข้างในก็ใส่เสื้อขนสัตว์ แล้วห่มจีวรทับ
เพื่อป้องกันหนาวตามคำแนะนำของ ญาติโยมที่อยู่ที่นั่น
เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น อาจจะปอดบวมตายได้
แต่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจากเมือง ไทยไปพบท่านหลวงพ่อปัญญานันทะ
จึงเรียนถามว่า "ท่านไม่รักษาวินัยหรือ"

"เจริญพร เป็นพระต้องรักษาวินัยอยู่แล้ว" หลวงพ่อตอบ

"ทำไมท่านนุ่งห่มอย่างนี้ ไม่ผิดวินัยหรือ" โยมคนนั้นซักอีก

"เจริญพร อาตมาเป็นคนนะ ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน" หลวงพ่อตอบ
แล้วต่อว่า
"สัตว์เดรัจฉานเช่นแพะแกะ อยู่เมืองหนาว ยังมีขนยาวหนา
เพื่อป้องกันหนาว คนมีปัญญากว่าสัตว์เดรัจฉานนะโยม"

เรื่องนี้ให้ "สัจธรรม" อย่างหนึ่ง คือสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อคนมาก
คนเมืองร้อนไปเมืองหนาว ยังต้องรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับดินฟ้าอากาศเมืองหนา
นี้แค่ความเป็นอยู่ในชีวิตประ จำวันนะครับ
สภาพของดินฟ้าอากาศยังมีอิทธิพล ต่อคนเพียงนี้ ต่อเรื่องอื่นล่ะจะมีอิทธิพลมากแค่ไหน

ยิ่งถ้าเป็นสิ่งแวดล้อมทางบุคคล ด้วยแล้ว อิทธิพลย่อมมากกว่าสิ่งแวดล้อม ทางวัตถุหลายร้อยเท่านัก
ขอให้นึกถึง จอมโจรองคุลิมาล นึกถึงพระเจ้าอชาตศัตรู ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แล้วจะเห็นชัด

องคุลิมาล เดิมชื่อ อหิงสกะ (แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน)
เป็นบุตรปุโรหิตของพระเจ้าปเสน ทิโกศล เมืองสาวัตถี ได้รับการศึกษาอบรมจากพ่อแม่อย่างดี
โตมาได้เป็นศิษย์ศึกษาศิลปวิทยา อยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ แห่งเมืองตักศิลา
อันเป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อ มากในยุคนั้น

อหิงสกะ เป็นเด็กขยันหมั่นเพียร ตั้งอกตั้งใจเรียน เป็นเด็กมีความประพฤติดีและเรียน เก่ง
จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์มาก แต่เพราะความดีความเก่งของอหิงส กะนั้นเอง
ที่ทำให้ชีวิตเธอผันแปรจากแนวทาง ที่ควรจะเป็น

เด็กนักศึกษาคนอื่นๆ อิจฉาอหิงสกะ จึงหาทางยุยงให้อาจารย์เข้าใจอหิงสกะผิด
แรกๆ ไม่เชื่อ แต่หลายคนพูดเข้า บ่อยเข้า อาจารย์ก็เชื่อว่าอหิงสกะนั้นคิด "ล้างครู"
เป็นศิษย์อกตัญญู (ทั้งๆ ที่ไม่มีวี่แววอะไรเลย) จึงวางแผนกำจัด

สั่งให้อหิงสกะไปฆ่าคนเอานิ้วมา ให้ครบพันนิ้วแล้วจะประสิทธิ์ ประสาทวิชาชั้นยอดให้
อหิงสกะเชื่อมั่นในอาจารย์ ด้วยความอยากได้วิชาชั้นยอด
จึงไปฆ่าคนเอานิ้วมือได้หลายนิ้ว ก็ร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้
จึงกลายเป็นโจร "องคุลิมาล" ในที่สุด

วิถีชีวิตขององคุลิมาลคงดิ่งลง ต่ำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้พระพุทธองค์เสด็จมาโปรด
จนกระทั่งเลิกละความชั่ว บวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์

แง่คิดจากเรื่องนี้ก็คือ อหิงสกะได้สิ่งแวดล้อมทางบุคคลไม่ดี
คืออาจารย์ทิศาปาโมกข์ไม่ได้เป็น "กัลยาณมิตร" (มิตรแท้)
ของอหิงสกะ ตรงข้ามกลับทำตัวเป็น "บาปมิตร" (มิตรชั่ว) ไป จึงชักนำให้เห็นผิดเป็นชอบ

พระเจ้าอชาตศัตรูเช่นเดียวกัน ถ้าไม่พบพระเทวทัต
วิถีชีวิตก็คงไม่หักเหจากแนวทาง ที่ควรเป็นดังที่ทราบกันแล้ว
แต่บังเอิญช่วงนั้นพระเทวทัตคิด จะปกครองสังฆมณฑลแทนพระพุทธเจ้า
ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำตามที่ตน ปรารถนา จึง "อกหัก"
คิดว่า ถ้าได้เจ้าชายอชาตศัตรูสนับสนุน แผนการก็จะสำเร็จง่ายขึ้น

จึงไปพูดเกลี้ยกล่อมอชาตศัตรู ต่างๆ นานา จนกระทั่งเจ้าชายทรงเลื่อมใส ยกให้เป็นอาจารย์
พอได้จังหวะเหมาะ จึงยุให้เจ้าชายปลงพระชนม์พระราชบิดายึดเอาราชสมบัติ
(ทั้งๆ ที่อยู่เฉยๆ อีกไม่นานก็จะได้เป็นของพระองค์อยู่แล้ว เนื่องจากพระองค์เป็นรัชทายาท)
แต่ด้วยลิ้นเล่ห์ของเทวทัต เจ้าชายก็หลงเชื่อ จนถึงกับทำ "ปิตุฆาต"
ทำอนันตริยกรรม (กรรมหนัก) ยากจะแก้ไขให้คงคืน

แม้ว่าในตอนหลัง จะเข้าไปสารภาพผิดต่อพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมแล้วก็ตาม
ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร พระพุทธองค์ตรัสภายหลังว่า
"ถ้าอชาตศัตรูไม่ได้ทำปิตุฆาต หลังจากฟังธรรมแล้วจะบรรลุเป็นพ ระอริยบุคคลทันที
แต่เนื่องจากทำกรรมหนักถลำพลาด เกินกว่าจะแก้ไขเสียแล้ว จึงไม่ได้บรรลุอะไร"

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะอชาตศัตรูได้สิ่งแวดล้อมทางบุคคลที่ไม่ดี
ได้พระเก๊ พระเทียม พระที่ไม่ประพฤติตนอยู่ในธรรมวินัยเป็นอาจารย์
จึงถูกยุยงให้เห็นผิดเป็นชอ

พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นนักเน้นหนา ว่า ในการฝึกฝนอบรมตนนั้น
สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญ ที่สุดที่ต้องคำนึงก่อน
ต้องจัดให้เหมาะสมให้เอื้ออำนวย แก่การฝึกฝนอบรม

- จะให้อยู่ที่ไหน ที่อยู่นั้นเหมาะสมหรือไม่ (นี้คือสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ)

- จะให้อยู่กับใคร ใครเป็นผู้ให้การฝึกฝนอบรม (นี้คือสิ่งแวดล้อมทางบุคคล)

เมื่อได้สิ่งแวดล้อมดี เหมาะสม เอื้อต่อการฝึกฝนอบรมแล้ว
คนคนนั้นก็จะเดินไปสู่ความสำเร็จ ในสิ่งที่มุ่งมั่นปรารถนา

นี้แหละที่พระท่านว่า ได้สิ่งแวดล้อมดีแล้ว อริยมรรคมีองค์แปดก็จะเกิดขึ้นและพัฒนาจนสมบูรณ์

http://www.facebook.com/notes/bhunikar-wongbundit/paccay-sakhay-khxng-kar-fuk-xbrm-saeng-ngein-saengthxng/398984896543

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น