Credit : http://th.wikipedia.org | Credit : www.skn.ac.th |
บทความส่วนใหญ่มาจาก รายการท่องโลกกว้าง ช่อง Thai PBS ฉายเมื่อวันที่ 27/08/2552 เวลา 18:00 - 19:00น. และ เพิ่มรายละเอียดจาก Credit : http://th.wikipedia.org
โดยส่วนใหญ่ เมื่อเราพูดถึงเกาะอีสเตอร์ เรามักจะนึกถึงสิ่งสำคัญอยู่สองอย่าง คือ โมอาย (Moai) และชื่อของเกาะที่เหมือนกับวันอีสเตอร์ซึ่งเป็นวันสำคัญของผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ คือ ในอดีต เกาะอีสเตอร์ (Easter Island) หรือ อีกชื่อ คือ เกาะราปานุย (Rapa Nui) เคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มากมาก่อน และเคยมีเมืองที่มีคนอยู่นับถึงราว 20,000 คน บนเกาะที่เล็กเพียง 160 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ทั้งๆ ที่เกาะห่างจากฝั่งประเทศชิลีกว่า 3,600 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันตก เกาะที่ใกล้เกาะอีสเตอร์มากที่สุดอยู่ห่างฝั่งจากถึง 2,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว เราสามารถที่จะเล่าความพิเศษและความเป็นมาเป็นไปของเกาะ อารยธรรม และหายนะได้ดังนี้
1. เกาะเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล เมื่อนับล้านปีมาแล้ว โดยการระเบิดทำให้เกาะเกิดโพรงหินจำนวนมาก เป็นถ้ำใต้ดินทั้งบนบก และในทะเล
2. เวลาผ่านธรรมชาติบนเกาะเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกเทศ เพราะห่างไกลจากเกาะอื่นๆ โดยมีต้นปาล์มขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เต็มเกาะ และมีพืชเล็กๆ อาศัยร่มเงาของต้นปาล์ม เติบโตขึ้นเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นป่าและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นบนเกาะ
3. การเดินทางของ ชาวโพลิเนเชียน (Polynesian) ซึ่งถือเป็นยอดนักเดินเรือในสมัยโบราณ เพราะสามารถอาศัยเพียงเรือที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เดินทางนับพันกิโลเมตร ไปตั้งรกรากบนเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ ก่อนโคลัมบัสนับพันปี
4. ผู้อพยพกลุ่มหนึ่งพบและได้นำเรือขึ้นเกาะ พร้อมเมล็ดพันธุ์ของพืช ไก่ หมู และสัตว์ต่างๆ ที่นำมากับเรือด้วย เพื่อรับประกันถึงสัตว์ที่สามารถนำไปใช้เป็นแหล่งอาหารได้เมื่อพบเกาะที่ยังไม่มีผู้อยู่อาศัย โดยคาดว่าชุมชนก่อตั้งจากคนเพียงไม่กี่คน
5. ชาวเกาะเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น เป็นผลมาจากที่สามารถทำการเกษตรได้ผลดีจากดินภูเขาไฟ อารยธรรมที่เกิดขึ้นไม่เพียงเฉพาะเรื่องของโมอายเท่านั้น แต่มีการพบร่องรอยของบ้านที่มีโครงสร้างซับซ้อน แต่พบว่าในช่วงแรกนี้ ชาวเกาะไม่ค่อยจะมีอาวุธ ซึ่งคงเป็นเพราะไม่มีศัตรู และไม่มีสัตว์ใหญ่ที่ต้องใช้อาวุธในการล่า
6. อารยธรรมขึ้นสู่จุดสูงสุด มีประชากรบนเกาะถึง 20,000 คน มีการแกะสลักโมอายจากแหล่งหินบนเกาะ โดยมีการแข่งขันกันของกลุ่มต่างๆ บนเกาะ เพื่อแสดงถึงอำนาจ และบารมี ทำให้โมอายค่อยๆ ใหญ่และสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยโมอายทั่วไปจะสูงประมาณตึก 3 ชั้น และมีโมอายที่คาดว่าถ้าแกะสลักสำเร็จจะสูงถึงตึก 7 ชั้นเลยทีเดียว
7. เกาะเริ่มเกิดปัญหาเมื่อต้นปาล์มยักษ์เริ่มสูญพันธุ์ไปจากเกาะ ด้วยสาเหตุต่างๆ คือ
- ความต้องการพื้นที่ในการทำการเกษตร - เพราะเมื่อมีคนมากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีอาหารมากขึ้น
- การขนย้ายโมอาย - เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการขนย้ายโมอายจากแหล่งหินไปยังที่ตั้ง จึงจำเป็นต้องใช้ท่อนไม้รองระหว่างโมอายที่แกะสลักเสร็จแล้ว กับพื้นดิน แล้วใช้คนจำนวนมากชักลากไป วิธีการนี้ทำให้ท่อนไม้ที่ใช้เสียหายและต้องตัดต้นไม้มาใช้ทดแทนไปเป็นจำนวนมาก
- หนูทำลายเมล็ดปาล์มยักษ์ - จากการที่มีร่องรอยของการกัดแทะของหนูที่เมล็ดของปาล์มยักษ์ ที่พบในถ้ำใต้พื้นดินเกาะ คาดว่าน่าจะมีหนูติดมากับเรือของผู้อพยพมาที่เกาะ และหนูมีความสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบนเกาะไม่มีศัตรูตามธรรมชาติของมัน เมื่อผลปาล์มที่มีรสหวานถูกหนูกัดกินเมล็ดไปเรื่อยๆ ก็จะส่งผลให้ต้นปาล์มรุ่นใหม่ๆ ไม่สามารถที่จะเติบโตขึ้นมาได้
8. ความสมดุลของธรรมชาติบนเกาะล่มสลาย เมื่อเกาะขาดต้นปาล์มยักษ์ ที่ช่วยป้องกันลมและเกลือจากทะเล ต้นไม้ขนาดเล็กๆ ซึ่งเดิมเคยอาศัยได้รับการปกป้องจากปาล์มยักษ์นี้ จึงไม่สามารถที่จะอยู่รอดได้ นั่นรวมไปถึง พืชไร่ พืชสวนของชาวเกาะที่ล้มตายจำนวนมาก และเมื่อขาดต้นปาล์มยักษ์ไป แหล่งน้ำจืดที่เดิมมีอยู่น้อยอยู่แล้วบนเกาะก็เหือดแห้งลงไปจนเกือบหมดสิ้น นอกเหนือจากนั้น น้ำฝนยังชะล้าดินบนเกาะที่ขาดพืชคลุมดินจนดินขาดความอุดมสมบูณ์ลงไปอีก จนเกาะเกิดสภาพการขาดแคลนอาหารอย่างมาก
9. ไม่สามารถหาอาหารจากทะเลได้ เนื่องจากเกาะอีสเตอร์ไม่เหมือนเกาะอื่นๆ ส่วนใหญ่ในทะเลแปซิฟิกที่มักจะมีแนวปะการัง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลจำนวนมาก ดังนั้นจึงทำให้คนบนเกาะอีสเตอร์ไม่สามารถจับสัตว์ทะเลเป็นอาหารได้จากใกล้ๆ เกาะ พวกเขาจำเป็นต้องใช้เรือเพื่อออกไปจับปลาที่ไกลออกไปจากชายฝั่ง แต่ต้นไม้ใหญ่บนเกาะตายหมดแล้ว ก็ไม่มีไม้ที่สามารถนำมาขุดทำเรือแคนนูได้ จึงยิ่งเพิ่มความอดอยากในเกาะขึ้นไปอีก
10. ภายหลังชาวเกาะต้องละทิ้งเมืองของตนไปอาศัยอยู่ในถ้ำแทน อารยธรรมที่มีเกิดการล่มสลาย ชาวเกาะต้องอาศัยโพรงในถ้ำต่างๆ ปลูกพืชที่เป็นอาหาร อาศัยแหล่งน้ำจืดที่ขังอยู่ในโพรงใต้ดินซึ่งมีอยู่น้อยนิด ชาวเมืองที่เดิมเคยเกื้อกูลกัน ก็ต้องกระจายแบ่งเป็นกลุ่มอำนาจและจับอาวุธเข้าสู้กัน เลวร้ายถึงขนาดที่ว่าคาดว่ามีการกินเนื้อมนุษย์กันเองเพื่อความอยู่รอด ชาวเกาะลดลงจาก 20,000 คนไปจนเหลือ 4,000 คน ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็น "ความล่มสลายของอารยธรรม" ของเกาะอีสเตอร์ครับ
ดังนั้น ถ้ามองอีกแง่หนึ่งทั้งหมดก็คล้ายจะเป็นโลกย่อส่วนลงมา คือ เมื่ออารยธรรมเฟื่องฟู มนุษย์ทำลายธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงวันหนึ่งที่โลกฟื้นฟูตนเองไม่ทัน พวกเราก็จะต้องรับผลกรรมของสิ่งที่ตัวเราทำไว้กับธรรมชาติในที่สุด ผมจึงหวังว่าท่านผู้ที่ได้ทราบข้อมูลเหล่านี้จะได้ช่วยกันรักษาธรรมชาติของโลกกันแม้เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเราช่วยกันก็อาจหลีกเลี่ยงหายนะที่เกิดขึ้นกับโลกได้ครับ
Credit : บทความเกี่ยวกับเกาะอีสเตอร์จากที่อื่นๆ
1. "หมู่เกาะอีสเตอร์" - บทความโดย เจไอ วันที่ 8 ธันวาคม 2548
2. "อารยธรรมล่มสลายที่เกาะอีสเตอร์" - บทความโดยคุณ การะเกด วันที่ 21 เมษายน 2546
ความรู้รอบตัวเล็กน้อย จากรายการท่องโลกกว้าง ช่อง Thai PBS ฉายเมื่อวันที่ 28/08/2552 เวลา 18:00 - 19:00น. - ดินเทราเพรต้า (ไม่รู้สะกดถูกไหมนะครับต้องขออภัยด้วย) เป็นดินที่มนุษย์พัฒนาขึ้น เพื่อใช้ปลูกพืชในป่าอเมซอน ที่ดินมีความเป็นกรดสูง ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ โดยนำดินที่มีกรดสูงนั้น มาผสมกับดินเหนียวที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา ซากปลา (ซากพืชซากสัตว์) และถ่าน เพราะถ่านมีคุณสมบัติในการดูดซับแร่ธาตุเก็บไว้ในดิน จึงช่วยให้สามารถสร้างพื้นที่ทางการเกษตรในป่าอเมซอนได้เป็นพื้นที่กว้างเท่าประเทศฝรั่งเศสเลยทีเดียว (จากเดิมที่ปลูกไม่ได้เลย) โดยความรู้ในเรื่องอัตราส่วนและวิธีการผสมได้สูญหายไป ปัจจุบันจึงอยู่ในระหว่างการวิจัยเพื่อนำวิธีการนี้ไปช่วยเหลือพื้นดินที่แห้งแล้งในประเทศต่างๆ ครับ (ถ้าเป็นวิธีทั่วไปที่ทั่วโลกใช้กัน คือ ใช้การเผาซากพืชในไร่เพื่อให้กลายเป็นถ่านครับ แต่วิธีนี้มักจะได้เป็นขี้เถ้าเป็นส่วนใหญ่ครับ)