Hikaru No GO Opening [Credit : jypwy154]
ผมเคยได้มีโอกาสสัมผัส เกมหมากล้อม หรือ โกะ มาระยะหนึ่งในช่วงสมัยที่เรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งจนถึงระดับมืออาชีพ และเวลาก็ผ่านมานานมากแล้ว แต่หลักแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้ก็ยังติดตัวไว้ใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ดังนี้
1. การมอง ประโยชน์ 2 ทาง - หมายถึง เมื่อเราต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง อย่ามองถึงเป้าหมายเพียงเป้าหมายเดียว หรือมองแค่ว่าจะได้ประโยชน์จากการทำสิ่งนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าท่านจะเดินทางไปเที่ยวที่ฮ่องกง ท่านอาจไม่ได้ไปเพื่อเที่ยวดูตึกรามบ้านช่อง หรือวิวทิวทัศน์เพียงอย่างเดียว แต่อาจวางแผนไปเพื่อการพูดคุยกับคนฮ่องกงเพื่อเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม และกิจกรรมอื่นๆ เช่นการไปเดินดูตลาดกลางคืน หรือการได้เดินเข้าไปมหาวิทยาลัยฮ่องกง เป็นต้น เพราะว่าถ้าหากท่านวางแผนเดินทาง เพื่อไปเที่ยวชมเมืองเป็นเป้าหมายหลักเพียงอย่างเดียวแล้วล่ะก็เพียงแค่ฝนตก หรือมีพายุเข้าในช่วงที่เดินทางไปถึง ก็จะทำให้การเดินทางของท่านด้อยค่าลงไปอย่างมากแล้ว ในทางกลับกันถ้ามีเป้าหมาย 2-3 เป้าหมาย ถ้าเป้าหมายใดทำไม่สำเร็จ หรือ ได้ผลสำเร็จน้อย ท่านก็ยังอาจได้ผลประโยชน์จากเป้าหมายที่เหลือมาทดแทนได้ครับ
2. "โกะ คือ การเจรจาต่อรอง ไม่มีใครจะได้ไปทั้งหมด" - หมากล้อมก็เหมือนหมากกระดานอื่นๆ มากมายในโลก คือ ต่างฝ่ายต่างผลัดกันเดิน แต่เป้าหมายของหมากล้อม มิได้ทำเพื่อ ประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามให้สิ้น หรือยึดครองพื้นที่ทั้งหมดของกระดาน หากแต่เป็นการผลัดกันเพื่อกั้นอาณาเขตของตน โดยใช้แนวความคิดที่ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน เช่น เมื่อฝ่ายตรงข้ามกั้นอาณาเขตของเขา แล้วท่านยอมรับโดยดี ท่านก็กั้นอาณาเขตของท่าน ต่างฝ่ายต่างทำให้ดีที่สุด ก็สามารถจบเกมกันโดยไม่มีฝ่ายใดต้องสูญเสียหมากในกระดานเลยก็ได้ แต่ในทางกลับกัน เมื่อฝ่ายตรงข้ามกั้นอาณาเขตของเขา แล้วท่านไม่อาจยอมรับได้ การบุกรุกเพื่อลดทอนผลประโยชน์ของฝ่ายตรงข้ามก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพียงแต่เมื่อท่านใช้โอกาสของท่านเพื่อลดทอนอาณาเขตของอีกฝ่าย ก็เท่ากับว่าท่านสูญเสียโอกาสของท่านเองที่จะกั้นอาณาเขตของท่านเองด้วยเช่นกัน
3. การมองที่ ภาพรวม และการมองที่ รายละเอียด - ส่วนใหญ่ผู้เล่นหมากล้อมจำเป็นต้องมองภาพรวมของเกมทั้งหมด เรียกได้ว่าไม่ว่าจะวางหมากเม็ดใดลงที่จุดใดของกระดาน ก็ส่งผลกระทบต่อทั้งกระดานได้เลยทีเดียว แต่ผลกระทบนั้นจะมากหรือน้อย จะเป็นผลในหมากตาปัจจุบัน หรือหมากตาต่อๆ ไปในอนาคตก็แล้วแต่ การมองทั้งภาพรวมของกระดานและรายละเอียดของกระดานที่จุดต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำครับ
4. งานด่วน มาก่อน งานใหญ่ - หมายถึง บางครั้งขณะเราทำงานชิ้นใหญ่ เป้าหมายสำคัญ แต่อาจเกิดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจำเป็นต้องทำขึ้นมาก่อน ถ้าเราละทิ้งเรื่องเล็กน้อยนั้นไว้ บางครั้งสุดท้ายแล้ว เรื่องใหญ่ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของเราอาจจะพังลง เพียงเพราะเราไม่ได้จัดการเรื่องเล็กน้อยนั้นๆ นั่นเอง
5. เราไม่ได้เล่นหมากล้อม เพื่อเอาจะชนะกันอย่างเดียว - เป้าหมายในการเล่นอีกอย่าง คือ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเกมในสายตาของทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความก้าวหน้าในฝีมือการเล่นยิ่งๆ ขึ้นไปอีก จึงไม่แปลกเลยที่การเล่นหลายครั้งแม้มีผลแพ้ชนะไปแล้ว ก็จะมีการนั่งคุยกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน ถึงความหมายของการเดินหมากแต่ละเม็ด และคุณค่าของมันในสายตาของแต่ละฝ่าย รวมไปถึงคุณค่าที่แท้จริงของหมากเม็ดนั้นหลังจากเกมได้จบลงอีกด้วย
ในช่วงเวลานั้น "Hikaru No GO หรือ ฮิคารุ : เซียนโกะ เกมอัจฉริยะ " ซึ่งก็ได้เกิดกระแสตื่นตัวของกลุ่มผู้เล่นหมากล้อมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก สำหรับผม หลังจากการได้อ่านภาค Manga จบทั้ง 23 เล่มแล้ว โดยส่วนตัวค่อนข้างจะชอบตัวละครที่ชื่อ "อิสึมิ" ที่สุดแล้ว ไม่ใช่เพราะว่าตัวเขาเป็นคนเก่งมาก แต่ว่าเขาถือเป็นรูปแบบของคนที่เคยอยู่ในจุดที่สูง (ในเรื่องคือตอนที่ฮิคารุยังอยู่ในชั้นเรียนของอินเซย์ อิสึมิถือเป็นคนที่จัดอยู่ในกลุ่มที่เก่งที่สุดในกลุ่มอินเซย์ทั้งหมด) และตกต่ำลงอย่างมาก (พ่ายแพ้ต่อจิตใจอยากเอาชนะของตนเองในการสอบเพื่อเป็นมืออาชีพในกระดานกับฮิคารุ จนส่งผลต่อเนื่องทำให้การสอบมืออาชีพไม่ผ่าน และได้ลาออกจากการเป็นอินเซย์ทันที) แต่สุดท้ายแล้วก็เอาชนะใจตนเองกลับมาก้าวไปยังจุดที่สูงกว่าเดิมได้สำเร็จ (ได้เดินทางไปศึกษาโกะที่ประเทศจีน ตามคำชวนของอาจารย์ของตน และได้แอบเข้าพักในศูนย์ศึกษาหมากล้อมของจีน เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อศึกษาและพัฒนาฝีมือหมากล้อมของตนเอง จนกระทั่งสุดท้ายก็เอาชนะใจตนเอง และเดินทางกลับมาสอบเป็นมืออาชีพที่ญี่ปุ่นได้สำเร็จ อย่างไรก็ดีก็ยังคงไม่ลืมว่าการเป็นมืออาชีพก็เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น) ถ้าสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือว่า "จงอย่ากลัวที่จะล้มเหลว เพราะคนที่ไม่เคยล้มเหลวคือคนที่ไม่เคยได้เริ่มทำอะไรเลย"
แต่จุดสำคัญที่สุดอีกอย่างของ "อิสึมิ" คือ ในตอนที่ "ฮิคารุ" ตัวเอกหลงทางในชีวิต อิสึมิได้ไปท้าเล่นหมากล้อมอีกครั้ง โดยอ้างว่าขอให้ฮิคารุเล่นเพื่อตัวอิสึมิเอง แต่ผมคิดว่าอิสึมิคงมีเป้าหมายหลักให้ฮิคารุได้ลองเดินในเส้นทางที่ตัวเองเคยเชื่อมั่นที่สุดเมื่อก่อนอีกครั้ง เพื่อการกลับมาเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งสุดท้ายอิสึมิก็ช่วยฮิคารุได้สำเร็จ ในส่วนนี้ผมคิดว่าอิสึมิได้ทำหน้าที่ในฐานะรุ่นพี่ของฮิคารุ เข้ามาชี้นำทางฮิคารุให้ค้นพบตัวเองอีกครั้งหนึ่งครับ
สุดท้ายนี้ แนวคิดของผมเป็นเพียงพื้นฐานของเกมหมากล้อมเท่านั้น ถ้าหากท่านใดมีความประสงค์จะเข้าใจถึงหลักการเหล่านี้ หรือเข้าใจในเกมหมากล้อมอย่างลึกซึ้งแล้วล่ะก็ กระผมก็ขอแนะนำให้ท่านลองเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ "สมาคมกีฬาหมากล้อม แห่งประเทศไทย" ซึ่งเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการของประเทศไทยครับ
Hikaru No GO Opening 3 [Credit : karenshoyru23]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น