ผมคิดว่าคงมีน้อยคนมากที่เคยได้ "Uncharted Water" เกมที่มีประวัติยาวนานมากที่สุดเกมหนึ่งของค่ายเกม Koei ซึ่งนอกจากเกมนี้ แล้วที่ผมพอจะนึกออกก็ คือ เกม "Three Kingdoms" หรือ "สามก็ก" นั่นเอง
Uncharted Water ภาคแรกสุด ถือกำเนิดในสมัย DOS ครับ ด้วยขนาดของเกมที่หลายๆ ท่านคงคาดไม่ถึง นั่นคือ ประมาณ 1.2 MB เท่านั้นเอง ซึ่งเล็กกว่ารูป Wallpaper ของเกมสมัยนี้บางรูปซะอีก แต่ถึงแม้ภาพจะไม่ได้อลังการณ์ ระบบกลับถือได้ว่ามีแนวคิดที่แปลกใหม่กว่าเกมอื่นในสมัยนั้นมาก เช่น
1. การเดินเรือ - เป็นเกมที่ท่านต้องดูภูมิประเทศ กระแสลม กระแสน้ำ เพื่อเดินเรือไปยังเมืองเป้าหมาย ซึ่งจะได้รับการบอกใบ้จากร้านเหล้า โดยท่านต้องเสียเงินเลี้ยงเหล้านักดื่มในร้านเพื่อให้เขาเล่าเรื่องต่างๆ ให้ท่านฟัง แต่ถึงท่านไม่ทราบข้อมูล ท่านก็สามารถเสี่ยงดวงเดินทางไปเองได้ เพียงแต่การที่ท่านหาข้อมูลไว้ก่อน ก็สามารถช่วยท่านได้มากเลย เพราะค่าเหล้าไม่กี่เหรียญทอง อาจช่วยให้ท่านไม่ต้องไปตายกลางทะเลได้นะครับ
รูปการเดินเรือในเกม Uncharted Water 1 Credit : www.abandonia.com |
2. การค้าขายสินค้า ระหว่างเมือง - น่าจะเป็นเกมแรกที่ใช้แนวคิดของการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งถือเป็นระบบหลักที่สำคัญที่สุดของเกมก็ว่าได้ โดยท่านสามารถ "ซื้อสินค้าบางอย่าง" ได้จากเมืองแห่งหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดทุกเมืองจะมีสินค้าขาย 10-12 ชนิดโดยจะไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าเมือง Istanbul ขายพรม ผ้าลินิน ทอง ก็จะขายเหมือนเดิมทุกครั้งที่ท่านเทียบเรือเข้ามา) แต่สามารถ "ขายสินค้าทุกอย่าง" ได้ในเมืองแห่งนั้น เพียงแต่จุดสำคัญ คือ "ท่านจะขายสินค้านั้นได้ในราคาเท่าไร" ถ้าท่านวางแผนมาไม่ดี หาข้อมูลมาไม่พอ ท่านก็อาจจะล้มละลายในการเล่นเกมนี้ได้ เพราะรายได้หลักของท่านในเกมช่วงแรกๆ จะมาจากการซื้อถูกจากเมืองหนึ่ง แล้วไปขายแพงอีกเมืองหนึ่งนั่นเอง โดยการจะทำเช่นนั้นได้ ท่านต้องสังเกตุ สินค้าที่ขายถูกในเมืองต่างๆ และสินค้าที่รับซื้อราคาแพงในเมืองนั้นๆ เพื่อเดินทางล่องเรือ ฝ่าลมพายุ นำสินค้ามาขายเพื่อนำกำไรไป สร้างกองเรือที่ใหญ่ขึ้น จ้างลูกเรือเพิ่ม ล่องเรือไปทวีปใหม่ หาโบราณลึกลับ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งโชคชะตาที่ยิ่งใหญ่ที่รอคอยท่านอยู่ จะไม่อาจไปถึงได้เลย หากท่านไม่มีเงิน ^^"
รูปของเมืองที่ท่านนำเรือเข้าเทียบท่า | รูปพ่อค้าผู้อารี ผู้ไม่มีทางลดให้ท่านแม้แต่น้อย |
Credit : www.abandonia.com |
3. สงครามของกองเรือ - เป็นรูปแบบของสงครามในท้องทะเลที่มี "กระแสลม" และ "กระแสน้ำ" เป็นปัจจัยสำคัญในการรบ ซึ่งไม่เหมือนเกมวางแผนสงครามเกมอื่น ที่ท่านอาจจะมีภูเขา และแม่น้ำที่ตายตัว เป็นตัวแปรสำคัญในสงคราม แต่กระแสลม และกระแสน้ำ นั้นไม่หยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงของมันก็สร้างความแตกต่างในการต่อสู้ได้
เป้าหมายในเกมของ Uncharted Water ภาคแรกนี้ มีเพียงอย่างเดียว คือ "แต่งงานกับเจ้าหญิงให้ได้" ก็คือ ต้องสร้างชื่อเสียง ทำให้พระราชาพอใจ จีบเจ้าหญิง และสุดท้ายจะมีตัวร้ายชิงตัวเจ้าหญิงไปจากปราสาท ท่านก็จำต้องไปต่อสู้เพื่อชิงตัวเจ้าหญิงกลับมาครับ ฟังดูน่าสนใจไหมครับ ^^
ต่อมาก็เป็น การพัฒนาการที่น่าสนของเกม Uncharted Water ภาค 2 ออกปีคศ. 1995 ซึ่งยังคงเป็นเกมบน DOS อยู่เช่นเดิม เช่น
1. ระบบตัวเอกหลายตัว - โดยเมื่อเริ่มเกมจะมีให้เลือกตัวเอกได้ มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หนุ่ม หรือสูงอายุ โดยทุกคนจะมีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน เช่น ต้องการร่ำรวย ต้องการสำรวจโลก ต้องการล้างแค้น นอกจากนี้เมื่อเราเล่นตัวเอกคนหนึ่งแล้วก็มีโอกาสเจอตัวเอกอีกคนหนึ่งในเนื้อเรื่องด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่แปลกพอสมควรสำหรับสมัยนั้น
Credit : www.oldschoolapps.com | Credit : http://www.after2k.net |
2. ระบบการเดินในตัวเมือง - จากเดิมจะเป็นเพียงเมื่อเข้าสู่ตัวเมืองแล้วจะมีหน้าจอให้เลือกว่าจะเข้าไปที่อาคารแห่งใด และไม่มีตัวเอกให้เห็น ก็มีการพัฒนาเป็นการเดินในเมืองในภาค 2 แต่เวลาในเมืองจะหยุดนิ่ง และเมื่อเดินเข้าไปในอาคารจะทำให้เวลาเดินไปข้างหน้า
3. ระบบ Auto-Sail หรือเดินเรืออัตโนมัติ - เราสามารถใช้มันเพื่อเดินทางไปยังเมืองที่เคยไปมาแล้วได้ โดยให้เรือบังคับโดยผู้ช่วยกัปตัน แต่ถ้าระหว่างทางซวยเจออะไรท่านก็ต้องทำใจเองครับ เช่น อาจเจอพายุ หรือลมสงบแล่นไม่ไป หรืออาหารหมดแล้วท่านลืมแวะระหว่างทาง มันก็จะยืนยันไปให้ถึงเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ครับ
4. ระบบรับ Quest - จะมีสมาคมการค้า ซึ่งมีงานให้ท่านเช่น ส่งของจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง ส่งจดหมาย ซื้อของที่ต้องการ ปราบโจรสลัด โดยจะมีเวลาให้จำกัด ถ้าทำสำเร็จจะได้เงิน และ ชื่อเสียงซึ่งทำให้เนื้อเรื่องในเกมเดินต่อไป แต่ถ้าไม่สำเร็จชื่อเสียงก็จะลดลง แต่ไม่มากนักครับ
ซึ่งก็มีการต่อยอดแนวคิดนี้มาหลายๆ ภาคด้วยกัน จนปัจจุบันทางบริษัท Koei ก็ได้นำเกมนี้มาสร้างในรูปแบบของเกมออนไลน์ ชื่อ Uncharted Water Online หรือ 大航海時代【だいこうかいじだい】Daikoukai Jidai Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น