11 กุมภาพันธ์ 2553

Imagine-nation : COBRA [10/02/2010]

Credit : www.allocine.fr

"COBRA" เป็นผลงานของ "Buichi Terasawa" ถือเป็น Japanese Scifi Manga เรื่องแรกๆ ของญี่ปุ่น โดยเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1978 ในนิตยสาร Shonen Jump เป็นเรื่องที่มีทั้งแอนดรอยด์,เอเลี่ยน และได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศ จนมีการนำไปสร้างเป็นอนิเมชั่นในปี 1992 ในชื่อ "Space Adventure, Cobra" รวมไปถึง "Time Drive" และ "Cobra the Animation" ในปี 2008 ที่เพิ่งผ่านมา

ด้วยคุณสมบัติของตัวเอก ที่ดูเท่ห์ (Cool), ฉลาด (Smart) แต่ก็เป็นคนใจอ่อน (Softhearted) และมีอารมณ์ขัน (humour) และการที่มีผู้หญิงห้อมล้อมมากมาย ทำให้เป็นที่นิยมของผู้อ่านในสมัยนั้น โดยผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจากความชอบในการผจญภัยของผู้เขียน และความฝันในวัยเด็กที่อยากจะเป็น กะลาสี (Sailor), นักมายากล (Magician), และนักมวยปล้ำ (Wrestler) เมื่อรวมกันทั้งหมดนั่นก็คือ ตัว Cobra นั่นเอง [เป็นหลักการที่เคยได้ยินว่านักเขียนหลายท่านเขียนพระเอก โดยมีแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ตนเองอยากทำ หรือสิ่งอยากเป็น ในสมัยเด็ก นั่นเอง ในส่วนนี้รวมไปถึงนางเอกใน Manga เองบางครั้งก็มาจากผู้หญิงในอุดมคติของผู้เขียนเช่นกัน อ้างอิงจากเรื่อง Bakuman]

แนวเรื่อง จะมีการเดินเรื่องแบบเป็นผลมาจากหน้าที่ในฐานะของคนคนหนึ่งผสมกับจิตวิญญาณแบบซามูไร เนื่องจากตัวผู้เขียนเองนอกจากจะชอบแนวนิยายแบบไซไฟแล้วยังชอบหนังแนวซามูไรของญี่ปุ่นอีกด้วย และยังผลให้ ตัวศัตรูภายในเรื่อง ก็ถูกสร้างจากแนวคิดที่ให้มีอาวุธพลังทำลายล้างสูง ผสมผสานการให้ตัวละครที่เป็นมิตร หรือเพื่อนของตัวเอกมีลักษณะทางอารมณ์แบบคนญี่ปุ่น (Japanese Emotional Traits)

โลกภายในเรื่อง Cobra จะเป็นโลกที่ยากลำบากเพื่อเป็นการถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รู้สึกถึงการต่อสู้ และไม่ยอมแพ้กับปัญหาต่างๆ ของตัวเอก

นอกเหนือจากนี้ ลักษณะของภาพที่เป็นแนวคล้ายภาพถ่าย (Photorealistic) ทั้งในส่วนของตัวละครและฉากหลัง ข้อดีก็คือมันทำให้ได้งานที่มีลักษณะเหมือนจริงมาก แต่ก็มีข้อเสียในส่วนที่ต้องใช้เวลาในการทำงานมากด้วยเช่นกัน ทั้งเวลาของผู้เขียนเอง และเวลาของผู้ช่วยหลายๆ คนที่จำเป็นต้องมีฝีมือทางด้านนี้โดยเฉพาะอีกด้วย จึงทำให้งานที่เขียนของท่าน ออกวางตลาดแบบไม่ค่อยต่อเนื่องนัก (Irregular Series)

สำหรับการสัมภาษณ์ ตัวผู้เขียน คุณ "Buichi Terasawa" ท่านได้บอกว่า ...
- ชอบที่จะท้าทายสิ่งใหม่ๆ สิ่งใดที่คนอื่นไม่ทำนั้น ท่านชอบที่จะลองทำดู
- สิ่งสำคัญสำหรับการเขียนงาน ก็คือ การสะสมประสบการณ์ในชีวิต
- ท่านนับถืออาจารย์ "Tezuga Osamu" เป็นครู (Master) ท่านเชื่อว่าศิษย์จะได้รับจิตวิญญาณจากครู และศิษย์จะต้องนำสิ่งนั้นไปใช้และพัฒนาก้าวหน้าต่อไป
- ท่านเป็นคนแรกๆ ที่นำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการวาดการ์ตูน โดยเคยออกเป็นทั้งเกมของค่าย Hudson Game ในปี 1989 และหนังสือเป็นภาพแบบสีดิจิตอล (Digital Manga) ในปี 1995

นักวิจารณ์เชื่อว่าอาจารย์ "Tezuga Osamu" ได้ใช้ แนวทางที่มอง Manga เหมือนเป็น Movie คือ ต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างภาพในแต่ละช่อง การดำเนินเนื้อเรื่องข้ามไปในแต่ละช่องนั้นต้องราบเรียบ โดยไม่ขึ้นอยู่กับ Text [ผมไม่แน่ใจว่า Text จะหมายถึง "คำบรรยายหรือคำพูด" หรือหมายถึง "บทหรือตัวบท" กันแน่ครับ] ซึ่งแนวคิดนี้คุณ "Buichi Terasawa" ได้เรียนรู้และนำมาใช้ได้อย่างดีในผลงานของท่าน

Creator's Interview - "Tomoyoshi Joko" มีงานอนิเมชั่นต่างๆ โดยจุดเด่นคือเป็นงานวาดด้วยมือทั้งหมด (ราว 2,000-5,000 ภาพต่อเรื่อง) และมักจะหยิบเรื่องใกล้ตัวมาทำ เช่น
- "Mr. Cloud and Mr. Rain" - เรื่องเกี่ยวกับเมฆซึ่งเห็นได้ทุกวัน
- "BUILDING" - ได้แรงบันดาลใจจากการเห็นตึกสูงๆ เมื่อยังอยู่ที่นิวยอร์ก โดยเป็นการนำเสนอความรู้สึกของตึกสูงแห่งหนึ่งซึ่งตั้งตระหง่านอยู่กลางเมืองเพียงตึกเดียว (รอบๆ เป็นอาคารเล็กๆ เตี้ยๆ) ว่าตึกนั้นจะรู้สึกอย่างไรกับความโดดเดี่ยวนั้น และจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร (ตัวอย่าง)
- "Lizard Planet" - เป็นเรื่องที่ได้แนวคิดมาจากโลกของเรา
ทั้งนี้งานจะเน้นการเคลื่อนไหวที่ลื่นไหล และการใช้สีที่สดใส ส่วนสาเหตุที่เขาวาดมือทั้งหมดนั้น เขาให้เหตุผลว่าเพราะการเขียนด้วยมือทำให้เขาถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ดีกว่า และเขามีความสุขกับมัน

เรื่องอื่นๆ
1. Lost Planet2 - ภาคใหม่มาพร้อมกับระบบการเล่นแบบ Online และอาวุธใหม่ๆ
2. The Disappearance of Haruhi Suzumiya - อนิเมชั่นภาคใหม่ของ Suzumiya Haruhi

[ต้องขออภัยที่ไม่ได้เขียนนาน เนื่องจากการเขียนบทความเช่นนี้ค่อนข้างใช้เวลามากครับ เนื่องจากมุ่งหวังที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากรายการให้มีถูกต้องที่สุดเท่าที่ทำได้ (แต่ถ้ามีสิ่งใดผิดพลาดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้) จึงต้องดูรายการ 2-3 รอบเพื่อจดบันทึกและฟังข้อมูล (รอบละ 30 นาที) และพิมพ์รวมถึงการจัดวางคำพูดให้เหมาะสม สุดท้ายนี้จึงหวังว่าสิ่งที่เขียนนั้นจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยครับ]

1 ความคิดเห็น: