วันนี้ได้ดูรายการท่องโลกกว้างของช่อง Thai PBS เป็น สารคดีเกี่ยวกับ "หมู" ในช่วงแรกก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่คิดว่าคงจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก แต่ที่สะดุดใจจนต้องนำมาเขียนบทความก็คือในส่วนของการทดลองที่เกี่ยวกับ "การหย่านม" ของลูกหมูก่อนกำหนด (ลูกหมูในธรรมชาติจะกินนมถึงประมาณสัปดาห์ที่ 12 แล้วหลังจากแม่หมูจึงเริ่มให้ลูกหมูกินอาหารที่แข็ง แต่ในการทดลองจะใช้หมูที่หย่านมก่อน 3 สัปดาห์ซึ่งมาตรฐานของฟาร์มทั่วไปจะแยกลูกหมูจากแม่หมูให้หย่านมเมื่อเกิดได้ประมาณ 2 สัปดาห์)
""การทดลองหย่านมลูกหมูก่อนเวลา" นี้ ไม่ได้ทดลองในแง่ของการเติบโตทางร่างกายภายนอก แต่เป็นการทดลองดูผลกระทบของความเครียดที่เกิดขึ้นกับลูกหมู ที่มีผลต่อการพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ โดยหลักๆ แบ่งการทดลองเป็น 3 ส่วน คือ
1. "ทดลองผลกระทบทางอารมณ์" - โดยเมื่อนำลูกหมูที่หย่านมเร็ว มาอยู่ร่วมกันกับลูกหมูตัวอื่นที่ไม่ใช่พี่น้องของมัน ปรากฎว่า มันมีความก้าวร้าวอย่างมาก และเข้าต่อสู้กับลูกหมูตัวอื่นอย่างรวดเร็ว โดยพยายามกัดที่แก้มและหู
2. "ทดสอบความจิตใจ" - เป็นการนำลูกหมูไปเดินบนโต๊ะที่สูงจากพื้นราว 1 เมตร ซึ่งสำหรับลูกหมูที่สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตรก็คงถือว่าสูงมากเหมือนกัน ซึ่งมี 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งจะมีคอกพลาสติกใสกั้นทั้ง 3 ด้าน และอีกด้านหนึ่งจะไม่มีสิ่งใดกั้นเลย แล้วปล่อยให้หมูเดินอย่างอิสระ ปรากฎว่า
- ลูกหมูที่หย่านมเร็วเดินเข้าไปในส่วนของคอกและไม่กล้าที่เดินออกจากคอกเลย
- แต่ลูกหมูที่หย่านมตามธรรมชาติกลับไม่กลัวและเดินสำรวจไปทั่วโต๊ะ
3. "ทดสอบสมองและความสามารในการจดจำ" - เป็นการใช้สระน้ำทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตรมีน้ำลึกพอที่ลูกหมูจำเป็นต้องว่ายน้ำตลอดเวลาไม่งั้นจะจมน้ำ และไม่สามารถไต่ขึ้นที่ขอบสระน้ำได้ แต่ที่ด้านหนึ่งของสระน้ำมีการนำกล่องไปวางไว้ในน้ำเป็นแท่นยืนซึ่งถ้าหมูหาเจอจะสามารถยืนเฉยๆ ได้ โดยไม่ต้องว่ายน้ำ
- การทดสอบกับที่ลูกหมูที่หย่านมตามธรรมชาติพบว่า ในครั้งแรก มันค่อยๆ ว่ายน้ำสำรวจไปรอบๆ สระ จนเจอแท่นยืน และขึ้นไปยืนได้อย่างง่ายดาย ต่อมาเราก็นำมันขึ้นจากสระพักไว้ราว 10 นาที ก่อนจะทดสอบแบบเดิม ปรากฎว่าในการทดสอบทุกครั้งหลังจากนั้น เมื่อมันลงน้ำ มันจะว่ายน้ำตรงไปยังแท่นยืนอย่างรวดเร็ว
- แต่ลูกหมูที่หย่านมเร็ว เรากลับพบว่าเมื่อมันลงน้ำ มันหวาดกลัวอย่างมากและว่ายน้ำอย่างสะเปะสะปะ จนถึงแม้จะอยู่ใกล้แท่นยืนก็กลับไม่รู้สึกถึงแท่นยืนได้ และเมื่อเราทดสอบแบบเดิมซ้ำ เราก็พบว่าเสมือนมันไม่ได้เรียนรู้จากการทดสอบครั้งแรกเท่าใดนัก
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็มิได้ชี้ชัดถึงประโยชน์การให้เด็กได้กินนมแม่จนพ้นอายุช่วงหนึ่ง (ถ้าผมจำไม่ผิดก็คือควรให้กินถึงเมื่อเด็กอายุ 12 เดือน) แต่ผมก็เชื่อว่าการให้เด็กได้กินนมและอยู่กับแม่อย่างใกล้ชิดในช่วงเด็กจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีไม่ว่าจะทางร่างกาย ทางสมอง รวมไปถึงทางอารมณ์อีกด้วยครับ
เกร็ดอื่นๆ เกี่ยวกับหมูที่น่าสนใจ
1. หมูเป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดที่มีฟันมาตั้งแต่เกิด โดยในเรียกว่า "ฟันเจาะน้ำนม" (ถ้าจำผิดก็ขออภัยครับ) ซึ่งฟันนี้จะมีความแหลมคมอย่างมาก
2. ใน 2 ชั่วโมงแรกลูกหมูที่เพิ่งเกิดจะต้องทำหลายๆ สิ่งด้วยตัวเองไม่ว่าจะทำความสะอาดคราบเหนียวที่ติดตัว, ตัดสายรก, เดินให้ได้ด้วยตัวเองเพื่อไปดูดนมของแม่หมู
3. มีการทดลองแปลกๆ เกี่ยวกับลูกหมู โดยทำการเขียนหมายเลขที่ตัวลูกหมูเพื่อระบุว่าลูกหมูตัวไหนดูนมที่เต้านมไหนของแม่หมู แล้วจับลูกหมูออกมาห่างๆ แล้วค่อยปล่อยกลับให้ไปดูดนมปรากฎว่า พวกมันกลับไปดูดที่เต้านมเดิมของตัวเองโดยไม่ได้สนใจไปแย่งเต้านมของลูกหมูตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจจริงๆ
4. อวัยวะภายในของหมูคล้ายคนมาก ถ้าไม่นับในกลุ่มของลิงแล้ว เช่นในปัจจุบันอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจจะต้องทดสอบกับหัวใจหมูจนแน่ใจก่อนว่าปลอดภัยจึงจะสามารถนำมาใช้กับคนได้
5. ลูกหมูจะโตจนมีน้ำหนักประมาณ 100 เท่าของตอนเกิดในเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบเป็นเด็กที่คลอดมีน้ำหนัก 8 ปอนด์ (ประมาณ 4 กิโลกรัม) จะมีน้ำหนัก 800 ปอนด์ (ประมาณ 400 กิโลกรัม) ตอนอายุ 6 เดือน ^^"
6. ปัจจุบันมีประชากรหมูในโลกประมาณ 1,000 ล้านตัว โดยมีอยู่ในหลายๆ สถานที่ไม่ว่าจะในฟาร์ม ในป่า หรือในบ้านของคนเป็นสัตว์เลี้ยงก็ตาม